Order from us for quality, customized work in due time of your choice.
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะเป็นปัญหาการติดเชื้อสำคัญที่พบในโรงพยาบาล ซึ่งมีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของผู้ป่วยและทางด้านเศรษฐกิจ จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่เกี่ยวข้องกับการคาสายสวนปัสสาวะมากถึง 93,300 รายต่อปี (Dudeck, 2013) จากรายงานของสมาคมควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลนานาชาติ (INICC) พบว่า มีอัตราการติดเชื้อต่อจำนวนวันนอน 13.0-20.3 ครั้งต่อ 1,000 วันนอน และการเสียชีวิตที่สูงถึง 99,000 รายต่อปี (Ruijie Yin et al.,2023) ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลโรคติดเชื้อ สถาบันบำราศนราดูร พบว่า ประเทศไทย มีอัตราการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะต่อจำนวนวันนอน ในปี พ.ศ. 2565, 2566 และ 2567 เท่ากับ 1.39 : 1,000 , 1.43 : 1,000 และ 1.36 : 1,000 ตามลำดับ ซึ่งมากเป็นลำดับที่ 2 รองจากอัตราการติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ (กรมควบคุมโรค, 2567) ข้อมูลรายงานสถานการณ์การติดเชื้อของหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 1 โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ประจำปีงบประมาณ 2567 พบว่า อุบัติการณ์การติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะ ยังเกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพที่กำหนดเป้าหมายไว้ว่าต้องมีอุบัติการณ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 2:1,000 วันนอน โดยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 พบจำนวนการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะจำนวน 2 ครั้ง คิดเป็น อัตราอุบัติการณ์ 9: 1,000 วันนอน เดือนมกราคม พ.ศ.2567 เกิดจำนวน 2 ครั้ง คิดเป็น อัตราอุบัติการณ์ 9.13: 1,000 วันนอน และในเดือนมีนาคม พ.ศ.2567 เกิดจำนวน 1 ครั้ง คิดเป็น อัตราอุบัติการณ์ 4.27: 1,000 วันนอน
การคาสายสวนปัสสาวะเป็นหนึ่งในกระบวนการทางการแพทย์ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ทางเดินปัสสาวะอุดตัน ควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยที่ความบกพร่องในการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือในกรณีที่แพทย์ต้องการบันทึกปริมาณปัสสาวะอย่างเข้มงวด เป็นต้น อย่างไรก็ตามการคาสายสวนปัสสาวะเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะตามมา โดยพบว่าการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่เกี่ยวข้องกับการคาสายสวนปัสสาวะ เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาลมากถึงร้อยละ 40 (Saint, 2000) ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากการรักษาการติดเชื้อต้องใช้ยาปฏิชีวนะและการดูแลที่เพิ่มมากขึ้น (Flores-Mireles et al., 2015) นอกจากนั้นยังอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) และภาวะไตวาย (renal failure) เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานานขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น (Tambyah & Maki, 2000)
จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะ ประกอบด้วย 1)ปัจจัยจากตัวผู้ป่วย ได้แก่ ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย เช่น โรคเรื้อรัง เบาหวานหรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น (Meddings & Saint, 2015) ระบบภูมิคุ้มกัน โดยผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่า (Tambyah & Maki, 2015)และการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล (Kogan & O’Conner, 2013) 2) ปัจจัยจากจุลชีพ ได้แก่ ชนิดของเชื้อโรค พบว่า แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น Escherichia coli Enterococcus (Warren, 2015) เชื้อประจำถิ่นบริเวณลำไส้และอวัยวะสืบพันธุ์ (Henry, 2018) เป็นต้น การดื้อต่อยาปฏิชีวนะทำให้การรักษายากขึ้น (Lo & Nicolle, 2014) แหล่งที่มาของการติดเชื้อ การแพร่กระจายของเชื้อโรคจากแหล่งต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล (Saint & Olmsted, 2016) เป็นต้น 3)ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความสะอาดของสภาพแวดล้อม การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อในบริเวณที่มีการคาสายสวนปัสสาวะ (Weber & Williams, 2015) การควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล มาตรการป้องกันการติดเชื้อ เช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันและการควบคุมการติดเชื้อ (Gould & Umscheid, 2014) ทักษะของผู้ดูแล การทำความสะอาดและการดูแลระหว่างคาสายสวนปัสสาวะ ทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ในการประเมินความจำเป็นก่อนใส่สายสวนปัสสาวะ ทักษะในใส่สายสวนปัสสาวะโดยหลักปราศจากเชื้อ การดูแลระหว่างคาสายสวนปัสสาวะและการดูแลหลังจากถอดสายสวนปัสสาวะ (Thomas, 2019) เป็นต้น จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ได้กล่าวข้างต้นนี้ มีทั้งปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ และไม่สามารถควบคุมได้
ความรู้ในการดูแลตนเองของผู้ป่วย เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการติดเชื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ Hooton และคณะ (Hooton et al., 2010) พบว่า การดูแลตนเองของผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สอดคล้องกับการศึกษาของ Klevens R.M. ที่พบว่า การมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลสายสวนปัสสาวะและการปฏิบัติตามหลักการป้องกันการติดเชื้อสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้อย่างมีนัยสำคัญ (Klevens et al., 2007) และการศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานในการป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะของ Fakih และคณะ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการคาสายสวนปัสสาวะ แต่ยังพร่องความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพ (Fakih, M. G., et al. (2012) และการศึกษาของ Saint and Olmsted พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะของผู้ป่วย คือ ระดับการศึกษา (Saint & Olmsted ,2016) เช่นเดียวกับการศึกษาของ Coffman , M.J. และคณะ ที่พบว่า ผู้ป่วยที่มีระดับการศึกษาสูงมักมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเองมากกว่าผู้ป่วยที่มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่า (Coffman, M.J., et al., 2014) นอกจากระดับการศึกษาแล้ว อายุ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้และการจดจำข้อมูลหรือคำแนะนำในการปฏิบัติตน สอดคล้องกับการศึกษาของ McNeill, L. H.และคณะ ที่พบว่า อายุเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้และการจดจำข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ โดยผู้ป่วยที่มีอายุมากมักมีปัญหาในการจดจำและปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์ (McNeill, L. H., et al., 2009)
นอกจากนี้การมีพฤติกรรมในการดูแลตนเองที่เหมาะสม เช่น การรักษาความสะอาดบริเวณที่ยึดตรึงสายสวน การเปลี่ยนสายสวนตามเวลาที่กำหนด และการสังเกตอาการของการติดเชื้อ เป็นต้น สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ (Gould et al., 2010) สอดคล้องกับการศึกษาของ Tambyah และ Maki (2000) พบว่าการที่ผู้ป่วยมีความรู้และมีพฤติกรรมในการดูแลสายสวนปัสสาวะอย่างเคร่งครัด ช่วยโอกาสในการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้ป่วยในการป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะของ Rosenstock, I.M. พบว่า ทัศนคติและความเชื่อของผู้ป่วย ในการให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสายสวนปัสสาวะและการป้องกันการติดเชื้อ ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ป่วย (Rosenstock, I.M. , 1974) และจากการศึกษาของ Vistwanath, K. และคณะ พบว่า การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพและการสื่อสารที่ดีของบุคลลากรทางการแพทย์มีผลต่อความรู้และพฤติกรรมของผู้ป่วยในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ(Viswanth,K., et al.,2007)
ความรู้ของผู้ป่วยในการป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะ ประกอบด้วย 1) ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาความสะอาด ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษาความสะอาดของบริเวณที่คาสายสวนปัสสาวะ (Gould, C. V., et al., 2010) , ความรู้เกี่ยวกับการล้างมือก่อนและหลังการสัมผัสสายสวนปัสสาวะ (Lo, E., et al., 2014) 2) ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสายสวนปัสสาวะ ได้แก่ การเปลี่ยนสายสวนตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์และการตรวจสอบตำแหน่งของสายสวนปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ (Tambyah, P. A., & Maki, D. G., 2000) 3) ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ 4) ความรู้ด้านโภชนาการในการป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ สำหรับพฤติกรรมในการดูแลตนเองของผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะ ประกอบด้วย 1) พฤติกรรมการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย ได้แก่ การรักษาความสะอาดของบริเวณที่คาสายสวนปัสสาวะ การดูแลความสะอาดหลังการขับถ่าย การปฏิบัติตามขั้นตอนการล้างมืออย่างเคร่งครัด (Gould, C. V., et al., 2010) และการล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังการสัมผัสสายสวนปัสสาวะ (Lo, E., et al., 2014) 2) พฤติกรรมการดูแลสายสวนปัสสาวะ ได้แก่ การตรวจสอบและดูแลสายสวนอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการดึงหรือเคลื่อนสายสวนโดยไม่จำเป็น (Saint, S., et al., 2008) และการดูแลระบบการระบายปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะลงสู่ถุงรองรับปัสสาวะอยู่ในระบบปิด
ดังนั้น เพื่อช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะในหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 1 จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาความรู้และพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยในการป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแนวทางการให้ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลตนเองที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย ช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะ และเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลของหอผู้ป่วยได้ในโอกาสต่อไป
Order from us for quality, customized work in due time of your choice.